วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2559

พระอานนท์

ประวัติในสมัยพระมหาสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระเถระผู้เป็นพุทธปัฏฐากของพระมหาสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้า อมิโตทนศากยราช พระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระพุทธบิดา
ในเรื่องพระบิดาของท่าน มีหลักฐานหลายแห่งคัดค้านกันอยู่ เช่น อรรถกถาอังคุตตรนิกาย อรรถกถาธรรมบท และอรรถกถาพุทธวงศ์ กล่าวว่า พระเจ้าอมิโตทนะ เป็นพระบิดาของพระเจ้ามหานามะ และพระอนุรุทธะ
ในมหาวัสตุ และพุทธประวัติของพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส กล่าวว่าท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ส่วนพระเจ้าอมิโตทนะเป็นพระบิดาของพระเจ้ามหานามะ และพระอนุรุทธะ
แต่ในอรรถกถามัชฌิมนิกาย กล่าวว่า พระเจ้าสุกโกทนะเป็นพระบิดาของพระเจ้ามหามามะ และพระอนุรุทธะ
จากหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ไม่ได้กล่าวว่า พระมารดาของท่านเป็นใคร มหาวัสตุแห่งเดียวเท่านั้นที่กล่าวถึงพระมารดาของท่านว่าทรงพระนามว่า มฤคี
ท่านอรรถกถาจารย์ให้เหตุผลว่า ที่ท่านมีชื่อว่าอานนท์ก็เพราะว่าเมื่อท่านประสูติพระญาติทั้งหลายพากันสดชื่นรื่นเริงบันเทิงใจยิ่ง
พระอานนท์เป็นพระภาดาของพระพุทธเจ้า และเป็นสหชาติกับพระพุทธองค์ด้วย ผู้เป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า คือ ๑. พระนางพิมพาราหุลมาตา ๒. ฉันนอมาตย์ ๓. กาฬุทายิอมาตย์ ๔. พระอานนท์ ๕. กันถกอัสสราช ๖. ต้นมหาโพธิ์ ๗. ขุมทรัพย์ ๔ ทิศ
เหล่าศากยกุมารทั้งหลายออกบวชตามเสด็จ
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงสละราชสมบัติเสด็จออกทรงผนวชและได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ณ นครกบิลพัสดุ์ ในพรรษาที่ ๒ ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระนครกบิลพัสดุ์นั้น ได้มีพระญาติหลายองค์ออกทรงผนวชตามเสด็จยังเหลือแต่ศากยกุมารเหล่านี้คือ พระมหามานะ พระอนุรุทธะ พระภัททิยะ พระภัคคุ (ยุ. ภคุ) พระกิมิละ (ยุ. กิมพิละ) พระอานนท์และพระเทวทัตต์ ครั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่พอสมควรแก่กาลแล้วก็เสด็จจาริกต่อไปยังที่อื่น
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากพระนครกบิลพัสดุ์ไปแล้ว พวกศากยะทั้งหลายได้วิพากษ์วิจารณ์กันว่า พวกท่านได้ให้โอรสของตน ๆ ซึ่งมอบถวายให้เป็นเพื่อนเล่นของเจ้าชายสิทธัตถะ ในคราวทำพิธีขนานพระนามนั้น ออกผนวชตามเสด็จได้ แต่ศากยกุมารเหล่านี้ชะรอยจะไม่ใช่เป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้ากระมัง? จึงไม่ออกผนวชตามเสด็จ พระมหานามะ ได้สดับคำวิพากษ์วิจารณ์นี้แล้ว ทรงรู้สึกละอาย จึงได้ปรึกษาพระอนุรุทธะ ว่า ในท่านทั้งสองนั้น ต้องออกผนวชองค์หนึ่ง ในที่สุดแห่งการสนทนา พระอนุรุทธะ ยอมออกผนวชตามเสด็จ จึงไปทูลลาพระมารดา แต่พระมารดาไม่ทรงอนุญาต ท่านได้ทูลอ้อนวอนจนพระมารดาทรงอนุญาต แต่ทรงวางเงื่อนไขไว้ว่า หากพระเจ้าภัททิยศากยราชพระสหายของท่านออกผนวชด้วย พระนางึงจะทรงอนุญาต พระอนุรุทธะได้พยายามชักชวนพระเจ้าภัททิยะ จนตกลงพระทัยออกผนวชด้วยกันต่อจากนั้น ท่านได้ชักชวนศากยกุมารอีก ๕ องค์ มีพระอานนท์ เป็นต้นรวมทั้งอุบาลี กัปปกอมาตย์ด้วยเป็น ๗ คน ได้ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปเพื่อขอบรรพชาอุปสมบท และได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่อนุปิยอัมพวัน เขตอนุปิยนิคม แคว้นมัลละ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้บรรพชาอุปสมบทตามประสงค์ พระอุปัชฌายะของท่าน พระอานนท์ ชื่อพระเวลัฏฐสีสเถระ
ครั้นอุปสมบทแล้ว ท่านพระอานนท์ได้ศึกษาธรรมจากสำนักของท่านพระปุณณมันตานีบุตร ไม่นานก็ได้สำเร็จชั้นโสดาบัน ในกาลต่อมาท่านได้เล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตร มีอุปการคุณต่อท่านและพวกภิกษุผู้นวกะมาก ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้กล่าวสอนท่านว่า "ดูกรอานนท์ เพราะถือมั่นจึงมีตัณหา มานะ ทิฐิว่าเป็นเรา เพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีตัณหามานะ ทิฐิ ว่าเป็นเรา เพราะถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฐิ ว่าเป็นเรา เพราะไม่ถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฐิว่า เป็นเรา เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มสาว มีนิสัยชอบแต่งตัวส่องดูเงาของตนที่กระจก หรือที่ภาชนะน้ำอันใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะยึดถือจึงเห็น เพราะไม่ยึดจึงไม่เห็น ฉันใด เพราะถือมั่นรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฐิ ว่า เป็นเราเพราะไม่ถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหามานะ ทิฐิว่า เป็นเรา ฉันนั้นเหมือนกัน
จากนั้น ท่านพระอานนท์เล่าต่อไปว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้ถามท่านว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยงท่านตอบว่าไม่เที่ยง และในตอนสุดท้ายของการสอนธรรมครั้งนี้ ท่านบอกแก่พระภิกษุทั้งหลายว่าท่านได้ตรัสรู้ธรรมซึ่งหมายถึงได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน แห่งมัลลรัฐพอสมควรแก่พระอัธยาศัยแล้ว ก็ได้เสด็จจาริกต่อไปยังกรุงโกสัมพี ท่านพระอานนท์ และพระภิกษุศากยะรูปอื่น ๆ ที่ผนวชพร้อมกับท่านก็ตามเสด็จไปด้วย ปรากฏว่าประชาชนชาวเมืองโกสัมพี นิยมนับถือท่านมากเช่นเดียวกับพระมหาเถระรูปอื่น ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้พระเทวทัตถ์ เกิดริษยาเพราะตนเองไม่มีใครถามถึงเลย
พระอานนท์ถวายตัวเป็นพุทธอุปัฏฐาก
พระอรรถกถาจารย์ได้เล่าไว้ว่า ในสมัยปฐมโพธิกาลนั้น พระพุทธเจ้าหาได้มีพระภิกษุผู้อุปัฏฐากเป็นประจำไม่ บางคราวพระนาคสมาละ (นาคสุมนะ) เป็นผู้ถือบาตรและจีวรของพระพุทธองค์ในคราวเสด็จจาริกไปโปรดสัตว์ บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระอุปวาณะ บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวสามเณรจุนทะ บางคราวพระสาคตะ บางคราวพระราธะ บางคราวพระเมฆิยะ เป็นอยู่อย่างนี้เป็นเวลา ๒๐ พรรษา
ภิกษุผู้อุปัฏฐากละทิ้งพระพุทธองค์
การที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีพุทธุปัฏฐากเป็นประจำนี้ ได้ก่อให้เกิดความลำบากแก่พระองค์มาหลายครั้ง ดังเช่น ครั้งหนึ่งพระนาคสมาละเป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์ ครั้งนั้นพระองค์ได้เสด็จทางไกลไปถึงทาง ๒ แพร่ง ท่านพระนาคสมาละ หลีกลงจากทางทูลว่า ท่านจะไปทางนี้ พระองค์ตรัสว่า พระองค์จะเสด็จไปอีกทางหนึ่ง ขอให้พระนาคสมาละไปทางเดียวกับพระองค์ แต่ท่านไม่ยอมกราบทูลว่า ท่านจะไปตามทางของท่าน ขอให้พระองค์ทรงรับเอาบาตรจีวรของพระองค์ไป แล้วท่านได้วางบาตรและจีวรของพระพุทธเจ้าไว้บนพื้นดิน เดินจากไปแต่ลำพัง พระพุทธเจ้าจึงจำต้องถือบาตรและจีวรเสด็จไปแต่ลำพังพระองค์เดียว
อีกครั้งหนึ่ง พรเมฆิยะเป็นอุปัฏฐาก ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้เสด็จจาริกไปยังชันตุคาม เขตปาจีนวังสะกับพระเมฆิยะ ครั้นพระองค์เสด็จไปถึงที่นั้นแล้ว ท่านพระเมฆิยะ ได้เข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม ได้เห็นสวนมะม่วงอันร่มรื่นน่ารื่นรมย์แห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำ ท่านต้องการจะไปพักผ่อนในสวนนั้น จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงรับบาตรและจีวรของพระองค์ไปและทูลว่าท่านจะไปทำสมณธรรมที่สวนมะม่วงนั้น พระพุทธองค์ตรัสห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง เพราะมีมีพระภิกษุอื่นเลยในที่นั้น ทรงขอให้ท่านรอไปก่อนจนกว่าจะมีพระภิกษุรูปอื่นมาแทน แต่ท่านก็ไม่ยอม ได้ละทิ้งพระองค์ไว้แต่ลำพังพระองค์เดียว
ทรงขอให้พระสงฆ์เลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นพุทธุปัฏฐากประจำ
ด้วยเหตุนี้ในพรรษาที่ ๒๐ แต่ตรัสรู้ สมัยที่พระทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระภิกษุทั้งปวงในที่นั้นว่า พระองค์ทรงพระชราแล้ว ภิกษุบางรูปทอดทิ้งพระองค์ไปตามทางที่ตนปรารถนา บางรูปวางบาตรจีวรของพระองค์ไว้บนพื้นดินแล้วเดินจากไปเสีย จึงขอให้พระสงฆ์เลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นพุทธุปัฏฐากประจำ
เหล่าพระอสีติมหาสาวกเสนอตนเป็นพุทธอุปัฏฐาก
พระภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ต่างรู้สึกสังเวชสลดใจไปตาม ๆ กัน ทันใดนั้นเอง ท่านพระสารีบุตร ได้ลุกขึ้นอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วทูลขอรับอาสาเป็นพุทธุปัฏฐากประจำแต่พระองค์ทรงห้ามไว้ว่า"อย่าเลยสารีบุตร" เธออยู่ ณ ทิศใด ทิศนั้นไม่สูญเปล่า โอวาทของเธอเหมือนกับโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เธออย่าทำกิจอุปัฏฐากแก่เราเลย"
ต่อจากนั้น อสีติมหาสาวกทั้งหลาย มีท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นต้น ได้ลุกขึ้นอภิวาทแล้วทูลขอรับอาสาเป็นพุทธุปัฏฐากเช่นเดียวกับท่านพระสารีบุตร แต่พระองค์ทรงห้ามไว้ทั้งหมด ส่วนท่านพระอานนท์ยังตงนั่งนิ่งเฉย มิได้ทูลขอรับอาสาอย่างพระมหาสาวกทั้งหลาย พวกภิกษุจึงได้ตักเตือนให้ท่านทูลขอตำแหน่งพุทธุปัฏฐากนั้นบ้าง ท่านจึงกล่าวกับพระภิกษุทั้งหลายว่า "ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันตำแหน่งที่ขอได้มานั้นจะมีความหมายอะไรเล่า พระบรมศาสดาไม่ทรงเห็นกระผมกระนั้นหรือ? ก็หากพระองค์ทรงพอพระทัยในตัวกระผมแล้วไซร้ พระองค์ก็คงตรัสเองว่า อานนท์เธอจงอุปัฏฐากเราเถิด"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า ไม่มีผู้ใดจะสามารถให้ท่านพระอานนท์เกิดความอุตสาหะขึ้นมาได้เลย แต่เมื่อท่านพระอานนท์รู้แล้ว ท่านจักอุปัฏฐากพระองค์เอง เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้ยินพระดำรัสนั้น ก็ทราบทันทีว่า พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านพระอานนท์เป็นพุทธุปัฏฐาก จึงได้พูดตักเตือนให้ท่านทูลขอตำแหน่งพุทธุปัฏฐากจากพระองค์
พระอานนท์ทูลขอพร ๘ ประการ
ดังนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้ทูลขอพร ๘ ประการ หากพระองค์ทรงประทานพร ๘ ประการนี้ ท่านจึงจะรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐากท่านทูลขอพรว่า
๑. ถ้าจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
๒. ถ้าจักไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
๓. ถ้าจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
๔. ถ้าจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้
๕. ถ้าพระองค์จักไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้
๖. ถ้าข้าพระองค์จะพาบริษัทซึ่งมาแต่ที่ไกลเพื่อเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาแล้ว
๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น
๘. ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาอันใด ในที่ลับหลังข้าพระองค์ จักเสด็จมาตรัสบอกพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีก
เมื่อข้าพระองค์ได้รับพร ๘ ประการนี้ แหละจึงจักเป็นพุทธุปัฏฐากของพระองค์
โทษและอานิสงส์ของพร ๘ ประการ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามถึงโทษและอานิสงส์ที่ทูลขอพร ๘ ประการนี้ ท่านได้กราบทูลว่า ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ ๑ - ๔ ก็จักมีคนพูดได้ว่า ท่านรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก เพื่อหวังลาภสักการะอย่างนั้น ๆ เพื่อป้องกันปรวาทะอย่างนั้น ท่านจึงได้ทูลขอพร ๔ ข้อนี้ ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ ๕ - ๗ ก็จักมีคนพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระศาสดาไปทำไม เพราะกิจเท่านี้พระองค์ก็ยังไม่ทรงสงเคราะห์เสียแล้ว และหากท่านไม่ทูลขอพรข้อ ๘ เมื่อมีคนมาถามท่านลับหลัง พระพุทธองค์ว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสที่ไหน? ถ้าท่านตอบเขาไม่ได้ เขาก็จะพูดได้ว่า พระอานนท์เฝ้าติดตามพระผู้มีพระภาคเหมือนเงาตามตัวอยู่เป็นเวลานาน ทำไมเรื่องเท่านี้ยังไม่รู้?
ครั้นท่านได้ทูลชี้แจงแสดงโทษในข้อที่ไม่ควรได้ และอานิสงส์ในข้อที่ควรได้อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงทรงประทานพรตามที่ทูลขอทุกประการ ท่านพระอานนท์จึงได้รับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก และได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เป็นเวลา ๒๕ พรรษา
ตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแต่สมัยพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ความจริง ท่านพระอานนท์ได้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ตำแหน่งนี้มาเป็นเวลาตั้งแสนกัป คือ เริ่มตั้งแต่ศาสนาของพระปทุมุตตร สัมมาสัมพุทธเจ้า ในชาตินั้น ท่านได้เกิดในพระนครหงสวดี เป็นโอรสของพระเจ้านันทราช (อานันทราช) และพระนางสุเมธาเทวี (สุชาดา) ผู้ครองนครหงสวดี สมัยนั้นท่านมีนามว่า สุมนกุมารเป็นพระกนิษฐภาดาของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ครั้นเจริญวัยขึ้น พระบิดาทรงมอบหมายให้ปกครองโภคคาม ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลออกไปจากนครหงสวดี ๑๒๐ โยชน์พระกุมารได้เสด็จกลับไปยังนครหงสวดี เพื่อเฝ้าพระบิดาและพระพุทธเจ้าบ้างเป็นบางคราว
ครั้งหนึ่งมีกบฏเกิดขึ้นที่ปัจจันตชนบท พระกุมารทรงปราบปรามได้โดยราบคาบ เมื่อความทราบไปถึงพระบิดา ก็ทำให้พระองค์ทรงพอพระทัยมาก รับสั่งให้เรียกพระกุมารไปยังนครหวสวดี ทันทีเมื่อพระกุมารเสด็จไปเฝ้าพระบิดาทรงประคองกอดแล้วรับสั่งให้ขอพรตามที่ต้องการแทนที่พระกุมารจะทูลขอช้าง ม้า ชนบท หรือรัตนะ ๗ ประการ ตามที่พวกอำมาตย์ทูลแนะ พระกุมารกลับทูลขอโอกาสอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเป็นเวลา ๓ เดือน พระบิดารับสั่งให้ขออย่างอื่น เพราะการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเป็นหน้าที่ของพระองค์แต่ผู้เดียว ไม่เคยทรงอนุญาตให้ใคร แต่พระกุมารทูลยืนยันจะได้รับพรอย่างเดิม หากไม่พระราชทานพรอันนั้น ก็ไม่ทูลขออย่างอื่น และทูลว่าธรรมดาพระดำรัสของพระมหากษัตริย์ ย่อมไม่เป็น ๒ เมื่อพระบิดาได้สดับดังนั้น ก็ทรงจำนนด้วยเหตุผล แต่ตรัสบ่ายเบี่ยงว่า "ธรรมดาน้ำพระทัยของพระพุทธเจ้ารู้ได้ยาก แม้พ่อจะอนุญาตแล้วก็ตาม หากพระพุทธองค์ไม่ทรงปรารถนา ก็ไม่รู้จักทำอย่างไรได้" พระกุมารทูลรับว่าพระองค์จักรู้น้ำพระทัยของพระผู้มีพระภาคเองทูลแล้วได้เสด็จไปสู่พระวิหาร
แต่ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคกำลังประทับอยู่ในพระคันธกุฏี ดังนั้นพระกุมารจึงเสด็จไปหาพระภิกษุสงฆ์ที่กำลังนั่งประชุมกันอยู่ที่โรงกลม ทรงแจ้งพระประสงค์จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพระภิกษุสงฆ์ทูลแนะนำให้เสด็จไปหาพระสุมนเถระ ผู้เป็นพุทธุปัฏฐาก เมื่อพระกุมารเสด็จเข้าไปหาพระเถระและทรงแจ้งพระประสงค์ของพระองค์ถวายพระสุมนเถระแล้ว พระเถระเข้าฌานมีอาโปกสิณเป็นอารมณ์แล้วแทรกแผ่นดินเข้าไปสู่พระคันธกุฏีกราบทูลพระพุทธองค์ว่า พระราชกุมารมาเฝ้า พระพุทธองค์ตรัสใช้ให้พระสุมนเถระออกไปปูอาสนะภายนอกพระคันธกุฏี พระเถระจึงแทรกแผ่นดินนำพุทธอาสน์ออกไปปูลาดภายนอกพระคันธกุฏี พระกุมารได้ทอดพระเนตรเห็นพระเถระดำดินเข้าออกเช่นนั้น ก็ทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ ทรงคิดว่าพระรูปนี้ใหญ่ยิ่งจริงหนอเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฏีประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์แล้วพระกุมารถวายนมัสการกราบทูลถามว่า พระภิกษุรูปนี้เห็นจะเป็นภิกษุที่พระองค์ทรงโปรดปรานมากกระมัง? พระพุทธองค์ตรัสตอบรับว่าเป็นอย่างนั้น พระกุมารทูลถามต่อไปว่า พระภิกษุรูปนี้ได้ทำกรรมอะไรไว้จึงได้มาเป็นภิกษุที่โปรดปรานอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าภิกษุรูปนี้ได้ทำบุญให้ทานไว้มาก พระกุมารจึงกราบทูลว่า ท่านเองก็ปรารถนาจะได้รับตำแหน่ง ภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงโปรดปรานอย่างนั้นบ้าง ในอนาคตกาล แล้วได้ถวายขันธวารภัตสิ้น ๗ วัน ในวันที่ ๗ ได้กราบทูลเล่าเรื่องที่พระเจ้านันทราช พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ท่านปฏิบัติรับใช้พระพุทธองค์ได้ ๓ เดือน และกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ โภคคาม กับท่านเป็นเวลา ๓ เดือน เมื่อทรงทราบว่าพระพุทธองค์ทรงรับแล้ว จึงกราบทูลว่าท่านเองจะเสด็จไปก่อนเพื่อสร้างพระวิหารเตรียมรับเสด็จ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ท่านจะส่งสาส์นมาถวาย แล้วให้พระพุทธองค์เสด็จไปพร้อมกับพระภิกษุหนึ่งแสนรูป เมื่อได้กราบทูลนัดแนะเสร็จแล้วก็ทูลลากลับเข้าสู่พระราชวัง กราบทูลพระบิดาว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว เมื่อท่านส่งสาส์นมาก็ขอให้พระบิดาช่วยกราบทูลเชิญเสด็จด้วย พระเจ้านันทราชทรงรับรองอย่างดี
ครั้นแล้วพระกุมารก็กราบลาพระบิดาเสร็จไปยังโภคคาม ให้สร้างวิหารไว้ในระหว่างทางห่างกัน ๑ โยชน์ ต่อหลัง สิ้นระยะทาง ๑๒๐ โยชน์เป็นวิหาร ๑๒๐ หลังเพื่อให้พระผู้มีพระภาคทรงพักอาศัยในคราวเสด็จไปสู่โภคคาม และเมื่อพระกุมารเสด็จไปถึงโภคคามแล้ว ก็ได้ทรงแสวงหาสถานที่ที่จะสร้างวิหาร ทรงเห็นอุทยานของโสภนกุฏุมพีจึงทรงขอซื้อด้วยเงินหนึ่งแสน ต่อจากนั้นทรงสร้างพระคันธกุฏีสำหรับพระพุทธเจ้า สร้างที่พักกลางวันที่พักกลางคืน สำหรับพระภิกษุสงฆ์ สร้างลานกุฏิ กำแพงประตู และซุ้มประตู เมื่อทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จแล้ว จึงได้ส่งสาส์นไปทูลพระบิดาให้อาราธนา พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังโภคคามได้
พระเจ้านันทราชได้ทรงอังคาสพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลให้เสด็จไปยังโภคคาม ตามที่พระกุมารทูลนิมนต์ไว้ พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หนึ่งแสนรูปเสด็จไปยังโภคคาม และทรงพักตามวิหารรายทางต่าง ๆ จนถึงโภคคาม พระกุมารได้เสด็จออกไปถวายการต้อนรับเป็นระยะทาง ๑ โยชน์ ทรงบูชาด้วยดอกไม้ของหอมหลายอย่างและนำเสด็จเข้าสู่โสภนวิหาร กราบทูลถวายพระวิหารนั้นเป็นพุทธบูชา
ครั้นต่อมาเวลาใกล้วันเข้าพรรษา พระกุมารได้ถวายมหาทานและได้ทรงชักชวนพระโอรสพระชายา และพวกอมาตย์ให้ถวายทานอย่างพระองค์บ้าง ตลอดเวลา ๓ เดือน พระกุมารได้ทรงอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่เป็นประจำ และได้เสด็จไปหาท่านพระสุมนเถระเสมอ ๆ ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว จึงเสด็จกลับสู่พระราชนิเวศน์และได้ถวายมหาทานอีก๗ วัน ในวันที่ ๗ ได้ถวายจีวรแก่พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์แล้วทรงตั้งมโนปณิธานว่า ด้วยเดชะกุศลกรรมที่ได้ทรงสร้างมาทั้งหมดนี้ ขอให้พระองค์ได้เป็นพุทธุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า องค์ใดองค์หนึ่ง ในอนาคตกาล อย่างเช่นพระสุมนเถระนั้นเถิด พระปทุมุตตร พุทธเจ้าทรงพยากรณ์แล้ว เสด็จออกเดินทางไปโปรดสัตว์ ณ ที่อื่นต่อไป
บุรพกรรมของท่านสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า
ในศาสนาของพระปทุมุตตร พุทธเจ้านี้ ท่านพระอานนท์ได้เคยถวายทาน เป็นเวลาหนึ่งแสนปี ครั้นจุติจากชาตินั้นได้ไปเกิดในสวรรค์ จุติจากสวรรค์ลงมาเกิดในมนุษยโลก ในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า ก็ได้ถวายจีวรทำการบูชาพระเถระผู้เที่ยวบิณฑบาตรูปหนึ่ง ครั้นจุติจากชาตินั้นก็ได้ไปเกิดในสวรรค์อีก และเมื่อจุติจากสวรรค์ได้ลงมาเกิดเป็นพระเจ้าพาราณสีได้ถวายมหาทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ พระทรงสร้างบรรณศาลา ๘ หลังในมงคลอุทยานของพระองค์ ถวายให้เป็นที่ประทับของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๘ องค์ นอกจากนั้นยังได้สร้างตั่ง ๘ ตัวทำด้วยรัตนะล้วนทุกชนิด สร้างเตียง ๔ ตัวทำด้วยแก้วมณี และที่รองรับเท้า ๘ที่ ทำด้วยพระปัจเจก พุทธเจ้าประทับนั่งในคราวเสด็จมา พระองค์ได้ทรงอุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นเวลาหมื่นปี
เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตร่วมกับพระพุทธเจ้า
ท่านพระอานนท์ได้เคยทำบุญให้ทาน อยู่เป็นเวลา ๑ แสนกัป ในชาติก่อนที่จะลงมาเกิดในชาตินี้ ได้เคยไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตร่วมกับพระพุทธเจ้าของเราครั้งเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ครั้นจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตก็ได้มาเกิดในศากยตระกูล ดังกล่าวแล้ว
กิจในหน้าที่ของพุทธอุปัฏฐาก
นี่แสดงให้เห็นว่า ท่านพระอานนท์ได้รับตำแหน่งที่ตนปรารถนาสำเร็จแล้ว และเมื่อได้รับตำแหน่งแล้ว ท่านก็ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดี กิจที่ท่านทำเป็นประจำแก่พระพุทธเจ้าคือ
๑. ถวายน้ำ ๒ อย่าง คือน้ำเย็นและน้ำร้อน
๒. ถวายไม้สีฟัน ๓ ขนาด
๓. นวดพระหัตถ์และพระบาท
๔. นวดพระปฤษฏางค์
๕. ปัดกวาดพระคันธกุฏี และบริเวณพระคันธกุฏี
พระมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคผู้เป็นเลิศในในพุทธอุปัฏฐาก
ในตอนกลางคืนท่านกำหนดเวลาได้ว่า เวลานี้พระพุทธองค์ทรงต้องการอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเข้าเฝ้า เมื่อเฝ้าเสร็จก็ออกมาอยู่ยาม ณ ภายนอกพระคันธกุฏีในคืนหนึ่ง ๆ ท่านถือประทีปด้ามใหญ่เวียนรอบบริเวณพระคันธกุฏีถึง ๘ ครั้ง ท่านคิดว่าหากท่านง่วงนอน เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกท่านจะไม่สามารถขานรับได้ ฉะนั้น จึงไม่ยอมวางประทีปตลอดทั้งคืน
ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้กล่าวยกย่องท่านพระอานนท์ไว้ว่า ท่านขยันในการอุปัฏฐากมาก ในบรรดาพระภิกษุผู้เคยอุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาแล้ว ไม่มีใครทำได้เหมือนท่าน เพราะพระภิกษุเหล่านั้นไม่รู้พระทัยของพระพุทธองค์ดี จึงอุปัฏฐากได้นาน ด้วยเหตุนี้ในคราวที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานพระองค์ได้ตรัสกับท่านว่า "อานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายธรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หาประมาณมิได้มาช้านานแล้ว เธอได้ทำบุญไว้มากแล้วอานนท์ เธอจงประกอบความเพียรเถิด จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน"
แล้วตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใด ที่มีมาแล้วในอดีตกาล ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น อย่างยิ่งก็เหมือนกับอานนท์ของเราเท่านั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่จักมีอนาคตกาล ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น อย่างยิ่งก็เพียงอานนท์ของเราเท่านั้น อานนท์เป็นบัณฑิตย่อมรู้ว่า นี่เป็นกาลเพื่อจะเข้าเฝ้าพระตถาคตนี่เป็นกาลของพวกภิกษุ นี่เป็นกาลของพวกภิกษุณี นี่เป็นกาลของพวกอุบาสก นี่เป็นกาลของพวกอุบาสิกา นี่เป็นกาลของพระราชา นี่เป็นกาลของพวกอำมาตย์ราชเสวก นี่เป็นกาลของพวกเดียรถีย์ นี่เป็นกาลของพวกสาวกของพวกเดียรถีย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น